ไมเกรนกับโรคเส้นเลือดสมอง

ไมเกรนกับโรคเส้นเลือดสมอง

หลายคนอาจสงสัยว่า โรคปวดศีรษะไมเกรนมีความสัมพันธ์กับโรคเส้นเลือดสมองอย่างไร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับโรคปวดศีรษะไมเกรนก่อน เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยที่สุดในวัยทำงาน อายุประมาณ 30 – 40 ปี รวมทั้งยังเป็นโรคที่มีผลกระทบกับการดำเนินชีวิตอย่างรุนแรง อาทิเช่น อาจทำให้ต้องหยุดงาน หยุดเรียน หรือไม่สามารถพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัวได้ในขณะที่มีอาการไมเกรนกำเริบ

ไมเกรนเรื่องปวดหัว

โรคไมเกรนไม่ได้เป็นโรคปวดศีรษะทั่วไป แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทเอง ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ รวมถึงปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น ฮอร์โมน ความเครียด การอักเสบในร่างกาย เข้ามาร่วมด้วย ส่งผลทำให้เกิดโรคไมเกรนขึ้น

ขณะที่เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนจะพบความผิดปกติของสมองหลายส่วน สมองส่วนที่เรียกว่า “ไฮโปธาลามัส” (Hypothalamus) เป็นส่วนที่เริ่มทำงานผิดปกติก่อน ซึ่งสมองส่วนนี้จะทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติ ควบคุมความอยากอาหาร การนอน การตื่น อุณหภูมิร่างกาย รวมทั้งฮอร์โมนในร่างกาย ในระยะถัดมาจะเกิดการทำงานผิดปกติที่ก้านสมอง (Brain stem) โดยก้านสมองจะส่งสัญญาณความปวดไปยังเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 นี้ จะมีการปล่อยสารการอักเสบที่ส่วนปลายของเส้นประสาท ทำให้เกิดความรู้สึกปวดขึ้นที่บริเวณศีรษะและใบหน้า การรับความรู้สึกของบริเวณศีรษะและใบหน้าจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้รับรู้การเต้นของเส้นเลือด เป็นลักษณะการปวดแบบตุบ ๆ ได้

ปวดหัวกับเส้นเลือดสมอง

ปวดศีรษะไมเกรนมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคเส้นเลือดสมองอย่างไร คำตอบคือ คนที่เป็นไมเกรนจะมีโอกาสเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบและแตกมากกว่าคนปกติ!

จากรายงานในวารสารทางการแพทย์ชื่อดัง “Brain” ตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม 2017 พบว่า คนที่เป็นไมเกรนชนิดมีอาการเตือน (Migraine with aura) จะเกิดเส้นเลือดสมองตีบได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 27% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีจะมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดสมองตีบสูงที่สุด (Lantz M, et al. Brain. 2017 Oct 1;140(10):2653-2662.)

คนไข้ไมเกรนชนิดมีอาการเตือนที่ใช้ยาคุมกำเนิดมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) เป็นส่วนประกอบ จะพบความเสี่ยงของเส้นเลือดสมองตีบเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า (Champaloux SW, et al. Am J Obstet Gynecol. 2017 May; 216(5):489.e1-489.e7.) การทำ MRI ศึกษาสมองในคนที่เป็นไมเกรน พบว่า สมองคนที่เป็นไมเกรนมีเส้นเลือดตีบแบบไม่แสดงอาการ (Silent Brain Infarction) และพบความผิดปกติของเนื้อสมองส่วนขาว (White Matter Lesion) มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า (Monteith T, et al. Stroke. 2014 Jun;45(6):1830-2.) รวมทั้งยังพบว่าคนที่เป็นไมเกรนมีความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดสมองแตกมากกว่าคนทั่วไปถึง 46% (Sacco S, et al. Stroke. 2013 Nov;44(11):3032-8.)

จากข้อมูลทางการแพทย์ดังกล่าวข้างต้น คนที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่มีอาการเตือนจะมีความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดสมองตีบและแตกมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นจึงต้องมีการดูแลรักษาเรื่องปวดศีรษะไมเกรนให้ดี มีการใช้ยาแก้ปวด รวมทั้งยาป้องกันอย่างถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากยาในกลุ่มแก้ปวดบางชนิดสามารถเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดสมองและหัวใจได้ การตรวจหาปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดตีบและแตกตั้งแต่อายุน้อยเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากโรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวานสามารถเกิดได้ในคนอายุน้อย และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

ในคนที่มีอาการเตือนของไมเกรนเกิดขึ้นบ่อยอาจต้องตรวจหัวใจเพื่อหาว่ามีภาวะผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว (Patent Foramen Ovale; PFO) หรือไม่ การใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบจะทำให้ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดสมองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการก่อนจะใช้ยาคุมกำเนิด อย่าซื้อยาคุมกำเนิดมารับประทานเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการเวียนศรีษะบ้านหมุน

อาการเวียนศรีษะบ้านหมุน

อาการเวียนศรีษะบ้านหมุน บ้านหมุน ที่ทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นได้ ซึ่งมีจากหลายปัจจัยและหลายโรคทางกาย แพทย์แนะหากมีอาการให้พบแพทย์เพื่อทำงานวินิจฉัยหาสาเหตุ ทำการรักษาอย่างตรงจุด เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและคุณภาพชีวิตดีขึ้น อยู่ๆโลกก็หมุน ตาพร่ามัว ทรงตัวไม่อยู่ หรือที่เราเรียกคุ้นปากว่า อาการบ้านหมุน ปัญหาของคนแทบทุกเพศทุกวัย ซึ่งบางทีก็มาแบบไม่ทันตั้งตัว หรือ มีอาการเครียดนำ และอาจเกิดได้หลายปัจจัย อาทิ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ ประสาทการได้ยิน แนะผู้มีอาการให้หลีกเลี่ยงการขับขี่พาหนะหรือกิจกรรมเสี่ยง เวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นกลุ่มอาการ แบ่งได้เป็น การมึนเวียนศีรษะ (Dizziness) การเวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo) คืออาการที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะที่สภาพแวดล้อม สิ่งของรอบๆ ตัวหมุน หรือตัวเราหมุนทั้งที่อยู่กับที่ สาเหตุของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน น้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere disease) เกิดจากความผิดปกติของน้ำในหูชั้นใน ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งทำให้เวียนศีรษะหมุนอย่างรุนแรง ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน และเสียสมดุลของร่างกาย ทำให้เซได้ง่าย อาจเป็นนานหลายนาทีจนถึงหลายชั่วโมง ทำให้การได้ยินลดลง มีเสียงดังในหู การอักเสบหูชั้นใน (Labyrinthitis) เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและการได้ยิน มีที่มาจากเชื้อไวรัส มักพบมีประวัติเป็นไข้หวัด ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทการได้ยินและการทรงตัว อาการจะรุนแรงเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน รวมถึงอาจศูนย์เสียการได้ยินร่วมด้วย เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular neuronitis) อาการอาจรุนแรงนานหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน เนื้องอกประสาทการได้ยิน (Acoustic neuroma) จะมีอาการเสียงรบกวนในหู และปัญหาการได้ยินร่วมด้วย เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ(Vertebro-basilar insufficiency) โดยการรักษาแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อสามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจน ซึ่งในบางรายอาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจการได้ยินการรักษาตามอาการ ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด หลีกเลี่ยงบ้านหมุนจากปัจจัยกระตุ้นอาการ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ท่าทางที่ทำให้เวียนศีรษะ เช่น การก้ม การเงย การหมุนตัว เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ควรระวังกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับชีวิต อาทิ การขับขี่ยานพาหนะ การทำงานกับเครื่องจักรกล สิ่งที่ดีที่สุด คือควรพบแพทย์และดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ขอขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

นอนหลับดีเสริมการทำงานของสมอง

นอนหลับดีเสริมการทำงานของสมอง

นอนหลับดีเสริมการทำงานของสมอง การทำงานของสมองในชีวิตประจำวันต้องคิดและตอบสนองหลายอย่าง สมองจำเป็นต้องได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ แต่ยิ่งตื่นอยู่นานแค่ไหน พลังงานของสมองจะค่อย ๆ ลดลงมากเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้ามจะมีการสะสมของเสียที่เกิดจากการใช้พลังงานของเซลล์ประสาทคล้ายเป็นขยะ เกะกะ กีดขวางความสามารถในการส่งกระแสประสาท และที่พบบ่อยคือ เศษของโปรตีนเทา (Tau Protein) และชิ้นส่วนของอะไมลอยด์ (Amyloid Beta) แต่เมื่อได้หลับสมองจะมีกระบวนการกำจัดเศษชิ้นส่วนเทาและอะไมลอยด์อย่างสมดุล ซึ่งต้องเป็นการหลับที่มีคุณภาพและได้ปริมาณที่เหมาะสมตามวัย ปัญหาการนอนสร้างของเสีย หากเป็นผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ เช่น ใช้เวลานานกว่าจะหลับได้ นอนไม่หลับ หรือนอนหลับแต่ละครั้งไม่มีคุณภาพ เช่น นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนกัดฟัน นอนดิ้น นอนละเมอ หรือตารางการนอนหลับไม่สม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้จะยิ่งทำให้ร่างกายมีกระบวนการสร้างของเสียมากขึ้น มีการสะสมของเทาโปรตีนและอะไมลอยด์มากขึ้นในสมอง แต่กำจัดได้น้อยลง การสะสมนี้จะนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์บางคนจะมีปัญหาหลับตื่นไม่เป็นเวลา หลับกลางวัน ตื่นกลางคืน มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติไป น้ำหนักตัว บางคนจะอ้วนขึ้นหรืออาจผอมลง เพราะโปรตีนเทากระจายไปรบกวนการทำงานของสมองที่ควบคุมวงจรการหลับตื่นของร่างกาย ตลอดจนสมองที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนควบคุมศูนย์หิวและอิ่มและฮอร์โมนอื่น ๆ ของร่างกายจึงเกิดเป็นวงจรการนอนหลับไม่มีคุณภาพ หรือหลับปริมาณน้อย หรือแม้แต่มากเกินไป เป็นปัจจัยชักนำของภาวะสมองเสื่อมที่ส่งผลให้ร่างกายระบบต่าง ๆ เสื่อมไปด้วย หลับดีสมองทำงานดี การนอนหลับที่มีคุณภาพช่วยให้สมองกำจัดโปรตีนเทา อะไมลอยด์ และผลิตผลขยะเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของสมองและร่างกายอีกครั้ง ประกอบไปด้วย นอนหลับในปริมาณที่เหมาะสม 7 – 9 ชั่วโมงในผู้ใหญ่ รูปแบบและตารางการนอนหลับที่สม่ำเสมอในช่วงเวลาที่เหมาะสมตามนาฬิกาโลก เริ่มต้นหลับได้ไม่ยาก หลับได้ต่อเนื่อง ไม่หลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่ลุกเข้าห้องน้ำมากกว่า 1 ครั้งต่อคืน มีคุณภาพการนอนหลับที่ดี ได้แก่ สมองหลับได้ทั้งระยะหลับตื้น หลับลึก และหลับฝันครบวงจรอย่างสมบูรณ์ หายใจได้ดี ไม่หยุดหายใจ ไม่ติดขัด ไม่กรน ไม่กัดฟัน หัวใจเต้นเป็นจังหวะปกติ กล้ามเนื้อผ่อนคลายขณะหลับ ไม่ละเมอ ไม่มีการกระตุกของร่างกาย หลับสงบไม่ผวากรีดร้อง ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างการทำงานของสมอง การนอนหลับจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ต้องหาเวลาที่เหมาะสมกับการเข้านอน ช่วงเวลาที่ร่างกายพร้อมจะหลับ ปรับเพิ่มคุณภาพการนอนหลับให้เหมาะสมกับความต้องการของสมองและร่างกายตามวัย เพื่อให้สมองได้พัก ซ่อมแซม และเสริมสร้างความคิดความจำอย่างมีประสิทธิภาพ ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

กลุ่มอาหารเพิ่มคความเสี่ยงอัลไซเมอร์-เบาหวาน

กลุ่มอาหารเพิ่มคความเสี่ยงอัลไซเมอร์-เบาหวาน

กลุ่มอาหารเพิ่มคความเสี่ยงอัลไซเมอร์-เบาหวาน สมองของเราใช้งานหนักในทุกๆวัน การบำรุงสมองถือว่าสำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เน้นผักใบเขียวที่อุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ต่างๆ จะช่วยลับคมและชะลอความเสื่อมของสมองตามวัยและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้แม้โรคดังกล่าวจะมีโอกาสส่งต่อทางพันธุกรรมได้ โดยในกลุ่มอาหารแน่นอนว่ามีทั้งดีต่อสมองและทำร้ายสมองได้เช่นเดียวกัน หากกินเข้าไปมองเกินไป อาจทำให้คุณแก่ก่อนวัยและก่อโรคอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งการหลีกเลี่ยงบริโภคอาหารเหล่านี้ จะช่วยให้คุณรักษาเซลล์สมองอันมีค่าไว้ได้ 4 อาหารที่แย่ที่สุดสำหรับสุขภาพสมอง น้ำตาลทรายขาว จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของอาหารที่แย่ที่สุดสำหรับสุขภาพสมอง ซึ่งคุณอาจจะแปลกใจหรือไม่ก็ได้ น้ำตาลขัดสีมากเกินไป เช่น น้ำเชื่อมข้าวโพดฟรุกโตสสูง (HFCS) อาจส่งผลเสียต่อสมองได้ คุณจะพบน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในอาหาร เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้กระป๋อง ลูกอม ขนมขบเคี้ยว และแม้กระทั่งอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น กราโนลาบาร์ โยเกิร์ตรสหวาน ผลไม้กระป๋อง และน้ำสลัด! ฉะนั้นการเลือกซื้อเป็นทางออกของการบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็น ในทางอ้อม อาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 และโรคอัลไซเมอร์ นำไปสู่ความผิดปกติของการเผาผลาญอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และโรคหัวใจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมด้วย คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี อย่างเช่น แป้งขาวแปรรูป (เช่น ขนมปังขาว พาสต้า) อาหารเหล่านี้มีปริมาณไฟเบอร์ถูกกำจัดออกระหว่างการแปรรูป ซึ่งเป็นสาเหตุให้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากกว่าโฮลเกรน ซึ่งเป็นข่าวร้ายสำหรับสมองของคุณ คาร์โบไฮเดรตขัดสีที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดแสดงให้เห็นว่าไม่ดีต่อสมองของคุณ ในความเป็นจริงการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่อาหารมื้อเดียวที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างมากก็อาจทำให้ความจำของคุณแย่ลงได้ นักวิจัยระบุว่าอาจเป็นเพราะอาหารเหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบของฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นพื้นที่ของสมองที่ส่งผลต่อความจำ การอักเสบของสมองยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาของภาวะสมองเสื่อม ตัวอย่างเช่น นักวิจัยจากการศึกษาหนึ่งพบว่าในบรรดาผู้สูงอายุ ผู้ที่บริโภคคาร์โบไฮเดรตมากกว่า 58 เปอร์เซ็นต์ของแคลอรี่ต่อวันมีความเสี่ยงต่อความบกพร่องทางจิตและภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นสองเท่า! ไขมันทรานส์ ไขมันนั้นมีทั้งแบบ ไขมันดีและไขมันเลว โดยไขมันดี เช่น โอเมก้า 3 เพื่อปรับปรุงความจำและลดความเสี่ยงของการลดลงของความรู้ความเข้าใจ ในทางกลับกัน ไขมันเลวอย่างไขมันทรานส์อาจให้ผลตรงกันข้าม และมักพบในอาหารอย่างเช่น มาการีน ขนมอบอย่างเค้กและคุกกี้ ครีมเทียมสำหรับกาแฟ แป้งโดสำเร็จรูปแช่เย็น เช่น บิสกิตและครัวซองต์ อาหารทอด และมีงานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ พบว่าการได้รับไขมันทรานส์ในปริมาณมากทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคอัลไซเมอร์ความจำเสื่อมและสติปัญญาลดลง แอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปส่งผลต่อสมองโดยตรงโดยรบกวนสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นสารเคมีที่สมองใช้ในการสื่อสาร การดื่มแอลกอฮอล์อย่างเรื้อรังยังสัมพันธ์กับขนาดสมองที่ลดลงการวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นพิษต่อสมอง ยิ่งกว่านั้น การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าการดื่มสุราอาจนำไปสู่อาการอัลไซเมอร์ได้เร็วขึ้น และมีอาการรุนแรงมากขึ้น แทนอาหารทำลายสมองเป็นอาหารบำรุงสมองที่อร่อยไม่แพ้กัน! เปลี่ยนน้ำตาลแปรรูปและน้ำเชื่อมข้าวโพดฟรุกโตสสูงกับอาหารรสหวานตามธรรมชาติ เช่น เบอร์รี่และช็อกโกแลต (นั่นคือโกโก้ 70 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ปกป้องสมองสูง! เปลี่ยนจากน้ำมันพืชเป็นน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันอะโวคาโด ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของอาหารบำรุงสมอง ทานถั่วอย่างวอลนัท พิสตาชิโอ และอัลมอนด์ ซึ่งมีไขมันที่สมองต้องการเพื่อการเจริญเติบโต กระตุ้นสมองด้วยเครื่องเทศ ซึ่งช่วยลดการอักเสบ เช่น ขมิ้น พริกป่น และอบเชย อาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชะลอและป้องกันโรคอย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำ หากพบความปิดปกติสัญญาณของอัลไซเมอร์ อย่างเช่น หลงลืมบ่อย ลืมการใช้งานของใช้ที่ใช้เป็นประจำ เช่น ลืมว่าปากกาหรือกรรไกรคืออะไร หรือมีไว้ทำอะไร เช่นเดียวกับคนรอบข้างเริ่มบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัย ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโดยด่วนนะคะ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

นอนหลับอย่างไรให้สมองสดใสหลังตื่น

นอนหลับอย่างไรให้สมองสดใสหลังตื่น

นอนหลับอย่างไรให้สมองสดใสหลังตื่น เพราะการนอนหลับมีความสำคัญกับชีวิตและมีความสัมพันธ์กับการสะสมพลังงาน การสร้างสมดุลให้ทุกระบบของร่างกาย ดังนั้นการนอนหลับให้ดีไม่เพียงช่วยให้สมองแข็งแรง แต่ช่วยให้สมองได้ทำความสะอาดไปในตัวด้วย ในชีวิตประจำวันระหว่างการตื่นตัวของคน สมองและร่างกายจะมีการใช้พลังงานและเกิดผลิตผลของเหลือใช้ในระบบต่าง ๆ เสมือนเป็นขยะที่ต้องกำจัดออก หากมีปริมาณมาก รุงรัง ระเกะระกะในสมองจะส่งผลให้เกิดความบกพร่องของการส่งกระแสประสาท ความรู้ความจำถดถอย อารมณ์แปรปรวน และหากเซลล์ประสาทที่เสียหายเป็นเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ร่วมด้วย สุดท้ายจะทำให้เกิดภาวะการทำงานล้มเหลวของหลายระบบของร่างกาย นอนหลับให้สมองสดใส การนอนหลับที่ช่วยให้สมองได้ทำความสะอาดและสดใสหลังตื่นนอน ได้แก่ นอนหลับในปริมาณที่เหมาะสม รูปแบบและตารางการนอนหลับสม่ำเสมอ เริ่มต้นหลับง่าย หลับต่อเนื่อง ไม่หลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่ลุกเข้าห้องน้ำมากกว่า 1 ครั้งต่อคืน มีคุณภาพการนอนหลับที่ดี อาทิ สมองหลับได้ทั้งระยะหลับตื้น หลับลึก และหลับฝัน ครบวงจรอย่างสมบูรณ์ หายใจได้ดี ไม่หยุดหายใจ ไม่ติดขัด ไม่กรน ไม่กัดฟัน หัวใจเต้นเป็นจังหวะปกติ กล้ามเนื้อผ่อนคลายขณะหลับ ไม่ละเมอ ไม่มีการกระตุกของร่างกาย หลับสงบไม่ผวากรีดร้อง ประโยชน์จากคุณภาพการนอนที่ดี หากมีปริมาณ รูปแบบ และคุณภาพการนอนหลับที่ดีจะส่งผลดีต่อสมอง ไม่ว่าจะเป็น สมองกำจัดผลิตผลเหลือใช้ของเซลล์ประสาท เสริมสร้างความจำ พัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายทำงานได้เป็นปกติในภาพรวมด้วย อย่างไรก็ตามด้วยความแตกต่างของแต่ละบุคคล การจะมีลักษณะการนอนหลับที่ดีทั้งรูปแบบ ปริมาณ และคุณภาพที่เหมาะสมจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับเพื่อสร้างสุขภาพการนอนหลับและสร้างพื้นฐานสุขภาพที่ดีให้กับร่างกาย ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

โรคหลอดเลือดสมอง ร้ายแรงแต่ป้องกันได้

โรคหลอดเลือดสมอง ร้ายแรงแต่ป้องกันได้

โรคหลอดเลือดสมอง ร้ายแรงแต่ป้องกันได้ ด้วยการใส่ใจสุขภาพและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง โรคหลอดเลือดสมอง จะมีทั้งโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งชนิดของโรคจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิด ทุกเพศทุกวัยสามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้จากปัจจัยที่ต่างกัน ซึ่งโรคนี้นับว่าเป็นโรคร้ายแรงที่เราพบว่าเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง แต่คุณรู้หรือไม่ว่า? โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเอง สิ่งที่ควรปฏิบัติ เพื่อลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ควบคุมความดันโลหิต เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้นตามอายุ จึงต้องได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตให้สม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ควบคุมเบาหวาน พยายามรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกสุขลักษณะ โดยลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอล รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวซ้อมมือ อาหารประเภทธัญพืช หลีกเลี่ยงอาหารที่รสเค็มจัดเกินไปหรือผ่านกระบวนการปรุงด้วยเกลือ เช่น อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง หรืออาหารกระป๋อง เป็นต้น งดสูบบุหรี่ เมื่อหยุดสูบบุหรี่ 1 ปี สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองลงถึงครึ่งนึ่ง ถ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะ (AF: Atrial Fibrillation) เพื่อพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้เร็วที่สุด ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งต้องปรับวิถีการดำเนินชีวิตให้ถูกสุขลักษณะหรือการรับประทานยาลดระดับไขมันในเลือดตามคำสั่งแพทย์ การออกกำลังกาย ควรใช้เวลาในการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมดังต่อไปนี้ ออกกำลังกายเบา ๆ ควรใช้เวลาประมาณ 60 นาที ออกกำลังกายระดับปานกลาง ควรใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก ควรใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักตัว โดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น ลดการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer)

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer)

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากการตายของเซลล์สมองเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคสมองเสื่อมโดนอาการของโรคจะเป็นไปอย่างช้าๆ เริ่มต้นจากไม่มีความผิดปกติเริ่มงความตำ ต่อมาจะเริ่มมีความจำถดถอยมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการเข้าสังคม อาการของโรคอัลไซเมอร์ การป้องกันโรคเพื่อลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ฝึกการทำงานของสมอง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888