มะเร็งลำไส้ใหญ่

รู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนสายเกินแก้

มะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และในประเทศไทยพบมากขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคนี้

ลำไส้ใหญ่แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ ลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในช่องท้องหรือ โคล่อน (Colon) กับลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานหรือเร็คตั่ม (Rectum) มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับลำไส้ใหญ่ทุกๆ ส่วน มะเร็งลำไส้ใหญ่ของทั้ง 2 ส่วนจะมีลักษณะโรคและวิธีการรักษาจะแตกต่างกันบ้างแต่สาเหตุการตรวจวินิจฉัยและระยะโรคคล้ายคลึงกัน

ขณะที่สาเหตุการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้ข้อสรุปชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่

แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงได้แก่

1. พันธุกรรม ทั้งชนิดพันธุกรรมที่ถ่ายทอดและพันธุกรรมที่ไม่ถ่ายทอด ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่หรือเกิดเป็นก้อนเนื้อโพลิบ (Polyp) ของลำไส้ใหญ่

2. อาหาร บางการศึกษาวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารไขมันสูงหรืออาหารที่ขาดใยอาหารทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า

3. บางการศึกษาพบว่าการขาดสารอาหารบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้สูงกว่าผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน

4. การรับประทานผัก ผลไม้ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง ลำไส้ใหญ่ เมื่อเทียบกับการรับประทานกลุ่มอื่น

5. การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกายที่พอเหมาะ อาจลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ระดับหนึ่ง

6. การดื่มสุราหรือเบียร์ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

7. การสูบบุหรี่ ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่จะเป็นอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคลำไส้ทั่วๆ ไป เช่น

1. ท้องผูก สลับท้องเสียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

2. อุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นเลือดสด หรือสีดำคล้ายสีถ่าน

3. ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ

4. ปวดท้องอย่างรุนแรง

5. อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือซีดโดยไม่รู้สาเหตุ

6. อาจคลำก้อนได้ในท้อง

ในการตรวจหาระยะของโรคแพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติม ทั้งนี้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องตรวจเหมือนๆกันในผู้ป่วยทุกราย เช่น

1. การตรวจช่องท้องด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซีทีสแกน (CT-Scan)

2. การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด

3. การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูการทำงานของตับ ไต หรือ โรคเบาหวานเป็นต้น

4. การตรวจภาพสแกนของกระดูก ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมาก เพื่อตรวจว่าได้มีโรคแพร่กระจายไปกระดูกหรือไม่

5. การตรวจอัลตราซาวด์ตับถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่ไปตับ

ผ่าตัดผ่านกล้องรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery)

ในอดีตการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด ซึ่งความยาวของแผลอยู่ที่ประมาณ 6 – 12 นิ้ว หรือ 15 – 30 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นำมาซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) โดยศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 4 – 5 รู ขนาด 6 – 8 มิลลิเมตร และมีแผลใหญ่สุด 1 รู ขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะมีการใส่เครื่องมือผ่าตัดรวมถึงกล้องขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในบนจอมอนิเตอร์ได้อย่างชัดเจน จำนวนและขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง

โดยข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก เสียเลือดลดลง เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล และทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ผลการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรจะเข้ารับการผ่าตัดแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม สถิติล่าสุดพบว่า ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยพบมากขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคนี้ ทำให้มักพบเมื่อป่วยเข้าสู่ระยะท้าย ๆ แล้ว ดังนั้นการรู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการดูแลใส่ใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็กตั้งแต่เนิ่น ๆ คือหนทางการป้องกันโรคได้ในระยะยาวได้

ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ท้องเสีย (Diarrhea / Gastroenteritis)

ท้องเสีย (Diarrhea / Gastroenteritis)

ท้องเสีย (Diarrhea / Gastroenteritis) ท้องเสีย หรือที่หลายท่านเรียก ท้องร่วง ท้องเดิน นั้น หมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเหลวมากกว่าวัลละ 3 ครั้ง แต่หากมีมูกหรือมีมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าเป็นท้องเสีย ท้องเสียมีสาเหตุหลายประการ ดังนี้ การติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส สารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร สารเคมี เช่น สารตะกั่ว สารหนู ไนเทรต ยาฆ่าแมลง ยา เช่น ยาถ่าย , แอมพิซิลิน , เตตราซัยคลีน พีเอเอส พืชพิษ เช่น เห็ดพิษ , กลอย ภาวะแทรกซ้อนสำคัญเมื่อท้องเสีย ภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะช็อก , ภาวะเลือดเป็นกรด , ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ , ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ เป็นอันตรายถึงตายได้ การรักษา ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าว น้ำหวาน ให้น้ำเกลือ เพื่อเพิ่มสารน้ำในร่างกาย ป้องกันภาวะขาดสารน้ำ ให้ยารักษาอาการท้องเสีย ซึ่งจะใช้ในกรณีจำเป็นเท่านั้น เนื่องจากอาจเกิดโทษได้ จึงจำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาการให้ยาเท่านั้น ให้ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ การป้องกัน ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง รับประทานอาหารสุก สะอาด และดื่มน้ำที่สะอาดเสมอ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

พันธุกรรม กับ “มะเร็งลำไส้ใหญ่”

พันธุกรรม กับ “มะเร็งลำไส้ใหญ่”

นอกจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตที่ผิด พันธุกรรมก็เป็นหนึ่งปัจจัยการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่คนอายุน้อยต้องตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังโรคมะเร็งร้าย! รู้จักขั้นตอนการตรวจส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) มะเร็งลำไส้ใหญ่ แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่มีบางปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ นั่นคือพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การหันมารับประทานอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น เช่น เบเกอรี่ สเต็ก อาหารประเภทให้ความหวานมากๆ และรับประทานผัก ผลไม้น้อย อีกทั้งสภาวะแวดล้อมที่หลายๆ คนต้องเผชิญ เช่น ความรีบเร่งจากการทำงาน ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อีกปัจจัยอีกหนึ่ง คือ พันธุกรรมที่มีการถ่ายทอดโดยยีน มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ และการตรวจคัดกรองเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และสามารถแยกเนื้องอกที่กำลังจะกลายเป็นมะเร็งได้ แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองทั้งผู้ชายและผู้หญิงเมื่ออายุ 50 ปี การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (fecal occult blood test: FOBT) สามารถตรวจได้ว่ามีเนื้องอกหรือเป็นมะเร็งหรือไม่ การตรวจด้วยวิธีนี้เป็นประจำทุกปีจะช่วยลดการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ การตรวจส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการตรวจคัดกรองแบบมาตรฐานสากล โดยเกณฑ์ของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้ เพศชายและหญิงอายุ 50 ปี ทุกคนต้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง แต่หากมีพ่อ แม่ ญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้ใช้หลักโดยการนำอายุขณะที่ญาติเป็น ลบด้วย 10 เช่น แม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 50-10 = 40 ปี ดังนั้นลูกต้องเข้ารับการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 40 ปี เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นและแนะนำตรวจ ทุก 5 ถึง 10 ปี การใช้สารทึบแสงเรียมร่วมกับการถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซเรย์ CT scan (double contrast barium enema: DCBE) จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทนการตรวจด้วยวิธีส่องกล้องได้ วิธีการตรวจส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) จะช่วยให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมดและสามารถเก็บชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจ โดยให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำ วิธีการคือแพทย์จะใช้กล้องพิเศษที่มีลักษณะเป็นท่อยาวเล็กๆ สอดผ่านทวารหนักเพื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กส่วนปลายได้ อีกทั้งแพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อนั้นออกมาตรวจได้โดยตรง สิ่งที่ตรวจพบได้จากการส่องกล้อง ริดสีดวงทวาร ลำไส้อักเสบ ติ่งเนื้อ เป็นเซลล์เนื้อที่ผิดปกติงอกจากผนังลำไส้ ซึ่งจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติร้ายแรงมากขึ้น ถ้าทิ้งไว้นานขึ้น แต่หากตรวจพบแต่เนิ่นๆ และกำจัดออกได้ก่อนก็จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นเนื้อร้ายได้ ถุงโป่งจากลำไส้ใหญ่ (Diverticulum) เนื้องอก ใครบ้างที่ควรส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารหรือมีอาการดังที่กล่าวไว้ข้างต้น อายุ 15-20 ปีขึ้นไป โดยมีประวัติญาติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไส้ตรง 3 คนขึ้นไป อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยมีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไส้ตรง 1 คนขึ้นไป อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงและไม่มีอาการผิดปกติ 6 ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ในช่วง 3 วันก่อนตรวจ งดรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีเส้นใย รับประทานยาระบายให้ตรงตามจำนวน และเวลา ตามที่แพทย์สั่ง ควรดื่มน้ำ 1 แก้ว ทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระ คืนก่อนวันตรวจ งดอาหาร และน้ำดื่ม จนกว่าจะทำการตรวจ ควรมีญาติมาด้วย ในบางรายแพทย์อาจให้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดความรู้สึกตึงแน่นในท้องจากการเป่าลมเข้าไปเพื่อให้ลำไส้ขยายตัวออกเหมือนลูกโป่งที่พองตัว เพื่อให้แพทย์ได้เห็นความผิดปกติภายในได้อย่างละเอียด ใช้ระยะเวลาในการทำโดยเฉลี่ย 15 - 30 นาที ภายหลังการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจเกิดอาการ แน่น อึดอัดท้อง จะทุเลาลง เมื่อได้ผายลม เจ็บบริเวณท้องน้อย หรือทวารหนัก อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ทุเลาลงและหายไป ในช่วงระยะ 2-3 ชั่วโมงแรกหลังการส่องกล้อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรับประทานอาหาร กลับบ้าน หรือปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

5 นิสัย เสี่ยงมะเร็งลำไส้

5 นิสัย เสี่ยงมะเร็งลำไส้

5 นิสัย เสี่ยงมะเร็งลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งชนิดที่พบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชายและอันดับ 5 ในเพศหญิง ซึ่งแน่นอนว่ามะเร็งทุกชนิดยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไรแต่เหล่าแพทย์และนักวิจัยต่างคาดการณ์ว่า สาเหตุหลักๆ เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของเรานี้แหละ โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินการใช้ชีวิตปล่อยให้ท้องผูกบ่อยๆจนเป็นเรื่องปกติ ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จัด เห็นไหมละคะว่าที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ใกล้ตัวเราตั้งสิ้น แทบจะไมได้ระมัดระวังตัวเองแม้แต่น้อย กลไกมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งสำไส้ใหญ่และทวารหนักเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ พัฒนาไปจนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในที่สุด ในอาการเริ่มแรกมักไม่มีอาการหรือเล็กๆน้อยๆอย่างเช่นท้องอืด ท้องผูกบ่อยๆ กว่าจะรู้ตัวเมื่อสายเกิดไปแล้ว แต่ปัจจุบันทางการแพทย์ได้มีการคัดกรองโรคตรวจพบอาการผิดปกตินี้ได้ตั้งแต่การเป็นติ่งเนื้อและสามารถตัดออกไปได้ทัน! ก็จะทำลายโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งจากข้อมูลทางทฤษฎีพบว่าติ่งเนื้อขนาด 1 ซม.จะใช้เวลานานถึง 10 ปีในการพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมาในอาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลามแล้วนั้นเอง โดยเฉพาะคนทำงานวัยกลางคน 40 ขึ้นไปที่ระบบการย่อยเริ่มเสื่อมสภาพ แน่นอนว่า มะเร็งมักหยิบฉวยโอกาสจากความเสื่อมของร่างกายอย่างอายุ และกรรมพันธุ์แต่ไม่ได้หลายความว่าทุกคนจะต้องป่วยด้วยโรคนี้เราสามารถเฝ้าระวัง คัดกรองและตัดพฤติกรรมเสี่ยงออกไปได้ ทำไมมะเร็งลำไส้ ถึงมีแนวโน้มสูงขึ้นในคนรุ่นใหม่อายุน้อย? ชอบบริโภคเนื้อสัตว์เนื้อแดง อาหารแปรรูป ไขมันสูง วิถีชีวิตที่เร่งรีบและเปลี่ยนไป การทานอาหารกลายเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวก ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่เราไม่ได้คำนวนถึงสัดส่วนให้ครบ 5 หมู่ โดยองค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ หรือ International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 คือ สามารถก่อมะเร็งในมนุษย์ ส่วนเนื้อแดง เป็นกลุ่ม 2A คือ อาจจะก่อมะเร็งในมนุษย์ การบริโภคเนื้อแปรรูปที่มากขึ้นและเป็นประจำจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้และไส้ตรง แม้ว่าเนื้อสัตว์แปรรูปจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งเดียวกันกับบุหรี่ แอลกอฮอล์ แร่ใยหิน สารหนู เป็นต้น แต่ไม่ได้มีอันตราย ดังนั้นสามารถรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปได้ แต่ให้จำกัดปริมาณไม่เกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์สำหรับเนื้อแดงมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น โปรตีน สังกะสี เหล็ก วิตามินบี 12 อีกทั้งควรบริโภคโปรตีนจากแหล่งอื่นเสริม เช่น ไข่ เต้าหู้ และถั่ว ชอบกินอาหารปิ้งย่าง รมควัน ยิ่งติดมัน ไหม้เกรียมกรอบๆ ยิ่งอร่อย แต่รู้หรือไม่เมนูที่บางคนกิน 6 วันต่อสัปดาห์นี้เป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะนอกจากจะมีไขมันอิ่มตัวสูงแล้ว เนื้อวัวและเนื้อหมูยังเป็นสัตว์เนื้อแดงที่มีสารประกอบฮีโมโกลบิน ที่เรียกว่าฮีม (heme) หากรับประทานมากจะไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เติบโต รวมถึงการปิ้งย่างยังเป็นวิธีปรุงสุกโดยมีไขมันหยดลงบนถ่านจนเกิดควัน ทำให้เกิดสารโพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง หากรับประทานบ่อยๆ จะสะสมอยู่ในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในที่สุด หากเป็นเมนูโปรดจริงๆ หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมทิ้งก่อนรับประทาน อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานในปริมาณมากและบ่อยจนเกินไป ไม่กินผัก-ผลไม้ ไม่เสริมกากใย ผักผลไม้เสมือนตัวช่วยทำความสะอาดลำไส้และร่ากายมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ ช่วยทำความสะอาดลำไส้ ช่วยลดการดูดซึมไขมัน ช่วยปรับสมดุลเอนไซม์และฮอร์โมนในร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทั้งยังช่วยต้านมะเร็งหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย ควรกินผักให้เพียงพอ โดยในเด็กควรกินผักให้ได้วันละ 12 ช้อนหรือ 4 ทัพพี และในผู้ใหญ่ควรกินผักให้ได้วันละ 18 ช้อน หรือ 6 ทัพพีแนะนำให้กินผลไม้วันละ 400 กรัม ที่สำคัญควรเลือกผักให้ ให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับวิตามินต่างชนิดกัน ชอบดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด แม้ว่าเอทานอลที่อยู่ในแอลกอฮอล์จะไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่เมื่อเข้าสู่ระบบเผาผลาญของร่างกายมันจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นสารก่อมะเร็งได้ พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลายๆ อย่าง หรือแม้แต่คนที่สูบบุหรี่จัด สารพิษในบุหรี่ก็สามารถส่งผลให้เกิดการอักเสบหรือเกิดแผลในลำไส้ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้เช่นกัน ไม่ควบคุมน้ำหนักปล่อยให้อ้วน หลายๆ การศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากระดับไขมันที่สูงมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งนั่นเอง โดยผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร พบว่า ภาวะอ้วนสามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้มากถึง 11 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ มะเร็งลำไส้ ซึ่งอาจเกิดจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก เรียกว่า โพลิป (Polyp) ซึ่งเป็นเซลล์เนื้อผิดปกติที่งอกจากผนังลำไส้ การสะสมไขมันในช่องท้องส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นสารที่เปลี่ยนเป็นฮอร์โมนแอนดรอกทินซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วนเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าคนปกติ 30-70% เลยทีเดียวค่ะ จะเห็นได้ว่าสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนหนึ่งคือพฤติกรรมการกินและ โรคอ้วน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันและ มีแคลอรีสูง รับประทานผัก ผลไม้มากๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงโรคอ้วนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ นอกจากนี้ การงดสูบบุหรี่และทำตรวจคัดกรองโรคกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการชวนสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากผลการศึกษาการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในต่างประเทศทำให้มีคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคนี้ในช่วงอายุ 50 ปี หรือมากกว่า หรือคนที่มีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว หรือคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรค ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

5 เทคนิคลดความเสี่ยง "มะเร็งลำไส้" ตามงานวิจัย

5 เทคนิคลดความเสี่ยง "มะเร็งลำไส้" ตามงานวิจัย

5 เทคนิคลดความเสี่ยง "มะเร็งลำไส้" ตามงานวิจัย เพิ่มความสมดุลร่างกาย มะเร็งลำไส้ ถูกคาดการณ์ว่าเกิดจากพฤติกรรมการกินแบบผิด ๆ วันนี้เราพามารู้จักเทคนิคกินแบบไหนให้ห่างไกลมะเร็ง! มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งร้ายที่พบได้เป็นอันดับต้นๆ ในไทย เชื่อกันว่ามีปัจจัยหลักๆ ของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดๆ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน อาทิ ชอบกินอาหารปิ้งๆย่างๆไหม้เกรียม อาหารไขมันสูงแปรรูป โซเดียมสูง การไม่ชอบทานผักผลไม้ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่จัด ซึ่งมีอาหารและวิธีการกินบางอย่างที่ทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ได้ 5 เทคนิคการกินช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ เน้นไฟเบอร์สูง แน่นอนว่า ไฟเบอร์หรือใยอาหาร ขึ้นชื่อเรื่องมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ซึ่งมีการศึกษาพบว่า..การทานใยอาหารเพิ่มขึ้น 10 กรัมต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยอาหารไฟเบอร์สูงที่ควรทาน ได้แก่ ธัญพืช ผักตระกูลกะหล่ำ หรือผักโขม เป็นต้น เพิ่มแคลเซียมในแต่ละวัน มีการศึกษาเปรียบเทียบการทานแคลเซียมจากนมในแต่ละวัน โดยพบว่ากลุ่มที่ทานแคลเซียมจากนมสูงที่สุด สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 20 %เลยทีเดียว เลือกทานปลาแทนเนื้อแดง ไขมันสูงจากเนื้อแดงจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่สำหรับมะเร็งลำไส้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจน อาจเกิดจากปัจจัยอื่นร่วม เช่น วิธีการปรุงที่มักใช้อุณหภูมิสูง แต่เพื่อลดความเสี่ยงควรหันมาทานไขมัน omega-3 จากเนื้อปลาแทนจะดีกว่า อีกทั้งปลายังไขมันต่ำช่วยในการลดน้ำหนักได้ดีอีกด้วย ทานอาหารอุดมด้วยแมกนีเซียม มีการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของแมกนีเซียมกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีรายงานชิ้นหนึ่งกล่าวว่า การทานแมกนีเซียมเพิ่มขึ้น 100 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ถึงร้อยละ 12 ซึ่งเท่ากับการทานปลา 4 ออนซ์ ถั่วลิสง 2 ออนซ์ หรือผักโขมปรุงสุกประมาณ 1/2 ถ้วย ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ จากการวิจัยชี้ชัดได้ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน และผู้หญิงไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตามควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมและฟื้นฟูตัวเอง และหากมีสัญญาณเตือนอย่างเช่นท้องสียท้องผูกบ่อยจนเป็นเรื่องปกติ น้ำหนักลดลงแม้กินอาหารเยอะขึ้นหรือเท่าเดิม ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเพราะถ้าหากพบโรคหรือรอยโรคเร็วก็มีโอกาสหายขาดได้อย่างแน่นอนค่ะ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ จุดเริ่มต้นมะเร็งตับ-ตับแข็ง 8 สัญญาณ “ไขมันพอกตับ”ภัยพฤติกรรมเลี่ยงละเลยอาจพ่วงมะเร็งตับ-ตับแข็ง รู้หรือไม่? คนรุ่นใหม่ป่วยเป็น ไขมันพอกตับ โดยไม่รู้ตัวเพราะไลฟ์สไตล์ที่ง่ายๆ สะดวก รวดเร็ว และสังสรรค์บ่อย และหลายคนมองข้ามภาวะดังกล่าว เพราะคิดว่าที่ไม่อันตรายและปล่อยปะละเลย และบางทีอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังประสบอยู่ ซึ่งหากปล่อยลุกลาม อาจต้องเผชิญกับโรคตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด ตับเป็นอวัยวะสำคัญ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในร่างกาย มีหน้าที่ทำลายสารพิษต่างๆ ที่เป็นอันตรายจากเลือด รวมถึงเป็นที่สำหรับกักเก็บพลังงานในรูปแบบของไขมันเพื่อใช้สร้างเป็นแหล่งพลังงาน แต่หากกินอาหารที่ให้พลังงานสูง หรือไขมันสูงมากจนเกินไป โดยไม่มีการใช้พลังงานออกไปอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับจำนวนมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ ถือว่าเริ่มมีภาวะไขมันพอกตับ(Fatty liver) ส่งผลให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบ เมื่อเป็นเรื้อรังจะมีการสร้างพังผืดมากขึ้น จนกลายเป็นโรคตับแข็ง และเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับซึ่ง ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับจำนวนมากมักไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าตับจะถูกทำลายอย่างรุนแรง เช่น เมื่อมีภาวะตับแข็งในระยะแรก จะเริ่มแสดงอาการ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ขาบวม ตัวตาเหลือง หรือจุกแน่นบริเวณท้องด้านขวาบน ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันพอกตับ ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol-related Fatty Liver Disease) มีสาเหตุหลักจากการดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันในปริมาณมาก จนตับไม่สามารถทำงานได้ปกติ และเกิดการสะสมของไขมันที่ตับในที่สุด ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Fatty Liver Disease : NAFLD) หรือในปัจจุบันมีผู้พยายามเปลี่ยนชื่อเป็น Metabolic-associated Fatty Liver disease (MAFLD) เพื่อให้สอดคล้องกับกลไกการเกิดโรคมากขึ้น เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดจากภาวะระบบการเผาผลาญผิดปกติ สัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) เช่น โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome), โรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง และโรคตับแข็ง ที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ มีสาเหตุมาจากภาวะนี้ถึงหนึ่งในสามของผู้ป่วยทั้งหมด อาการของไขมันพอกตับ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ มึนงง ผิวและตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกเหนื่อย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ขาบวม หรือมีน้ำในช่องท้อง ไม่สบายท้องหรือปวดบริเวณท้องด้านขวาบน ผิวหนังคัน ช้ำ หรือเลือดออก เนื่องจากภาวะไขมันพอกตับ มีสาเหตุจากการเผาผลาญพลังงานที่ไม่เหมาะสม มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเมตาบอลิซึม จึงมักพบร่วมกับโรคต่างๆ ดังนี้ โรคเบาหวาน ทั้งชนิดที่ 2 และชนิดที่ 1 โรคอ้วนลงพุง ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับ หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะไขมันพอกตับ หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงประวัติครอบครัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ การดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้อาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอาทิ การเจาะ การตรวจอัลตร้าซาวด์ตับ การตรวจวัดความยืดหยุ่นของตับ (Liver stiffness) ด้วยวิธีตรวจไฟโบรสแกน (FibroScan®) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) สามารถตรวจพบไขมันสะสมในตับได้ ตั้งแต่ 5-10% แต่ส่วนมากใช้เมื่อสงสัยว่าจะมีก้อนผิดปกติในตับมากกว่า แนวทางการรักษาภาวะไขมันพอกตับ ปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับรักษาภาวะไขมันพอกตับโดยตรง การรักษาภาวะไขมันพอกตับยังมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และดูแลสุขภาพในองค์รวม ดังนี้ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ลดอาหารจำพวกแป้ง และคาร์โบไฮเดรต เพิ่มโปรตีนที่มีคุณภาพ และผักต่างๆ ให้มากขึ้น ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยครั้งละ 45 นาที 3-4 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยปริมาณแอลกอฮอล์ที่พอรับได้ สำหรับผู้ชาย คือไม่เกิน 2-3 แก้ว/วัน และ 1-2 แก้วต่อวัน สำหรับผู้หญิง ใช้ยาเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการกินยาสมุนไพร หรือยาที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ลดหรือเลิกสูบบุหรี่ การป้องกันภาวะไขมันพอกตับ ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่สามารถป้องกันเบื้องต้นได้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และมีการดูแลสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลายและออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรพบแพทย์ตามนัด รับประทานยา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบหลายชนิดสามารถทำลายตับได้เช่นกัน เพื่อปกป้องสุขภาพตับ แพทย์อาจแนะนำให้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ และไวรัสตับอักเสบบี ขอขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

“มะเร็งลำไส้” ทำไมชายวัย 50+ ควรคัดกรอง

“มะเร็งลำไส้” ทำไมชายวัย 50+ ควรคัดกรอง

“มะเร็งลำไส้” ชายวัย 50+ ควรคัดกรอง-ปัจจัยอะไรทำให้ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะผู้ชายตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนที่อายุน้อย จึงไม่ควรมองข้ามการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) ภัยร้ายที่มาจากพฤติกรรม มะเร็งลำไส้ คือ ก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ มักเกิดขึ้นจากติ่งเนื้อที่อยู่ที่ลำไส้ใหญ่มาก่อนสักระยะหนึ่ง ซึ่งหากติ่งเนื้อนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์จนโตขึ้นก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด เพราะสาเหตุสำคัญของโรคนี้ มักสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ผิด ๆ อาทิ การเลือกกินอาหารที่ปิ้งย่างที่มักมีสารก่อมะเร็ง การกินอาหารแปรรูปบางอย่างมากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การขาดการออกกำลังกาย มีความเครียดสูง และเมื่อมีปัญหาระบบขับถ่ายแต่ไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อรักษา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะเพศชายเนื่องจาก เป็นช่วงวัยที่ระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพลง กว่าที่อาหารที่เข้าไปจะผ่านระบบย่อย และเดินทางมาถึงทวารหนักก็ต้องใช้เวลามากกว่าคนในวัยอื่นๆ พันธุกรรม การเลือกทานอาหารประเภทไขมันสูง ไม่มีใยอาหาร หรือทานผักผลไม้น้อย การสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เป็นประจำ การไม่ออกกำลังกาย และมีภาวะโรคอ้วน พฤติกรรมการขับถ่ายและอาการผิดปกติที่ไม่ควรปล่อยผ่าน ขับถ่ายบ่อยครั้งขึ้น หรือท้องผูกมากขึ้น ขับถ่ายไม่สุด หรือปวดเบ่ง ท้องเสียสลับกับท้องผูก มีเลือดสดๆ หรือเลือดแดงคลํ้าปนออกมากับอุจจาระ อุจจาระมีลักษณะก้อนเปลี่ยนเป็นเส้นลีบแบน มีท้องอืด ปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียด มีลมในลำไส้มาก นํ้าหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อย อ่อนเพลียง่าย จนกระทบต่อการใช้ชีวิต ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีหลายวิธี โดยวิธีที่ง่าย รวดเร็ว และประหยัดที่สุด คือ “การตรวจเลือดที่มองไม่เห็นในอุจจาระ” หรือที่เรียกว่า “Fecal Occult Blood Test” ซึ่งสามารถทำได้โดย การเก็บตัวอย่างของอุจจาระไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หากเป็นผลบวก แสดงว่าอาจมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระ ซึ่งควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ร่วมกับเทคนิคการถ่ายภาพทางรังสีวิทยา เช่น การสวนแป้ง และการถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Visual Colonoscopy) อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจคัดกรองที่เป็นที่ยอมรับที่สุดในปัจจุบัน คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้นอกจากจะให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำที่สุดแล้ว ยังสามารถทำการรักษาในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย กระบวนการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวนก้อนมะเร็ง และระยะของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) การฉายรังสี (radiotherapy) ซึ่งการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัด เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สำคัญที่สุด ส่วนการฉายแสงหรือการฉายรังสี มักจะรักษากับคนไข้ที่เป็นก้อนมะเร็งที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะผ่าตัดได้ ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไป เลือกทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อช่วยในขับถ่าย ดื่มน้ำให้มาก และอย่าให้ท้องผูกเรื้อรัง เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรือทานอาหารมากเกินไป งดการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่วัย 50+ ขึ้นที่ต้องใส่ใจเรื่องดังกล่าว หากอายุน้อยแต่มีพฤติกรรมเสี่ยงและมีอาการต้องสงสัยควรเข้ารับการคัดกรองด้วย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย โอกาสในการรักษาหายก็จะลดน้อยลง ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ